คดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ ของ แฌร์แม็ง กาต็องกา

การพิจารณา

วันที่ 2 กรกฎาคม 2007 องค์คณะพิจารณาเบื้องต้น (Pre-Trial Chamber) ของศาลอาญาระหว่างประเทศ เห็นว่า น่าเชื่อว่า กาต็องกาต้องรับผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะตัวสำหรับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติซึ่งกระทำในระหว่างการโจมตีหมู่บ้านบอกอโร องค์คณะจึงออกหมายจับเขาเป็นการเจาะจง[1] เขาถูกแจ้งข้อหาอาชญากรรมสงครามหกกระทง (ฆ่าโดยจงใจ ปฏิบัติอย่างโหดร้ายหรือทารุณ ใช้เด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีให้เข้าร่วมรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เอาคนลงเป็นทาสกามารณ์ เจตนาโจมตีพลเรือน และปล้นทรัพย์) กับข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกสามกระทง (ฆ่า กระทำปราศจากมนุษยธรรม และเอาคนลงเป็นทาสกามารมณ์)[1]

วันที่ 17 ตุลาคม 2007 รัฐบาลคองโกส่งตัวเขาให้แก่ศาล[3] และศาลสั่งขังเขาไว้ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นับเป็นบุคคลที่สองที่ถูกส่งตัวให้ศาลนับแต่ศาลเปิดทำการมาเมื่อปี 2002[6]

ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2008 มาตีเยอ อึนกูจอโล ชูย (Mathieu Ngudjolo Chui) ผู้ต้องสงสัยอีกคน ถูกส่งตัวให้ศาลไต่สวนในข้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการโจมตีหมู่บ้านบอกอโรเช่นกัน[7]

ศาลเริ่มไต่สวนเพื่อยืนยันข้อหาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2008[8] การไต่สวนมาสิ้นสุดลงในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 และวันที่ 26 กันายน 2008 องค์คณะพิจารณาเบื้องต้นคณะ 1 (Pre-Trial Chamber I) วินิจฉัยยืนยันข้อหาบางข้อของจำเลยทั้งสอง และสั่งให้ส่งพวกเขาไปให้องค์คณะพิจารณา (Trial Chamber) จัดการต่อไป การพิจารณาคดีเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2009 ศาลสั่งให้รวมการพิจารณาคดีของอึนกูจอโลกับกาต็องกา[9] แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2012 ได้สั่งให้แยกการพิจารณาคดีอีกครั้ง เพื่อให้โจทก์รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกาต็องกาได้มากขึ้น[10]

ผลการพิจารณา

วันที่ 7 มีนาคม 2014 ศาลอาญาระหว่างประเทศพิพากษาด้วยมติสองต่อหนึ่งว่า กาต็องกามีความผิดฐานกระทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติรวมห้ากระทง ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการสังหารหมู่ ณ หมู่บ้านบอกอโร[4][11]

เดิมที โจทก์ฟ้องกาต็องกาในฐานะเป็นตัวการร่วมโดยอ้อม (indirect co-perpetrator) แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กาต็องกามีความผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น เพราะพยานหลักฐานแสดงว่า เขาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทหารซึ่งเคลื่อนไหวในการสังหารหมู่ เขาจึงชื่อว่า "ส่งเสริมความสามารถของกองทหารในการโจมตี" แต่พยานหลักฐานในคดียังไม่พอให้ฟังได้ว่า กาต็องกาเป็นตัวการในการสังหารหมู่ดังกล่าว[12] นอกจากนี้ ศาลยังพิพากษาว่า พยานหลักฐานไม่พอจะให้ถือว่า กาต็องกาเป็นตัวการในการข่มขืนกระทำชำเราและการใช้เด็กเป็นทหารในระหว่างการสังหารหมู่ด้วย แต่ก็เน้นย้ำว่า มีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง[4][11]

ตุลาการคริสตีน ฟัน เดินไวน์คาร์ต (Christine van den Wyngaert) ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย มีความเห็นแย้งว่า ศาล "พิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม โดยละเมิดสิทธิหลายประการของแฌร์แม็ง กาต็องกา"[12]

โจทก์หรือจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาความผิดข้างต้นได้ภายในสามสิบวัน[13] ส่วนการกำหนดโทษของกาต็องกานั้นจะมีขึ้นในภายหลัง คาดหมายว่า เขาอาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุดสามสิบปี[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แฌร์แม็ง กาต็องกา http://www.bloomberg.com/news/2014-03-07/icc-finds... http://www.irishtimes.com/news/world/africa/katang... http://uk.reuters.com/article/homepageCrisis/idUKL... http://www.theguardian.com/world/2014/mar/07/germa... http://www.voanews.com/content/icc-to-deliver-verd... http://www.dw.de/icc-tribunal-finds-katanga-compli... http://www.icc-cpi.int/iccdocs/doc/doc349648.PDF http://www.icc-cpi.int/library/cases/ICC-01-04-01-... http://www.icc-cpi.int/press/pressreleases/284.htm... http://www.icc-cpi.int/press/pressreleases/291.htm...